Friday, June 18, 2010

สาสน์ กับ สาส์น และ สาร

วันนี้แวะไปเว็บโรงเรียนเก่ามา เห็นเพื่อนร่วมรุ่นพยายามโหวตเรื่องสารรุ่น แต่สะกดผิดเป็นสารน์ ก็เลยไปค้นหาคำที่ถูกต้อง (ภาษาคอมฯ เรียกว่า ขุด) ปรากฏว่าไปได้ความรู้เอามาแบ่งปันชาวชุมชน UAE ดังนี้

1. ค้นหาจาก พจนานุกรมออนไลน์ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ ได้ให้ความหมายไว้ว่า
สาสน, สาสน–, สาสน์, สาส์น [สาน, สาสะนะ–, สาดสะนะ–, สาด, สาน] น. คําสั่ง, คําสั่งสอน
สาสนธรรม ใช้กับ จดหมายของประมุขของประเทศหรือประมุขสงฆ์ที่ใช้ในการเจริญสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศ
พระราชสาส์น ใช้กับจดหมายของพระมหากษัตริย์ เขียน เป็น พระราชสาสน หรือ พระราชสาสน์ ก็ได้
อักษรสาส์น ใช้กับ จดหมายของประธานาธิบดี เขียนเป็น อักษรสาสน หรือ อักษรสาสน์ ก็ได้
สมณสาสน์ ใช้กับจดหมายของสมเด็จพระสังฆราช และถ้าเป็นจดหมายของสมเด็จพระสังฆราชเจ้า เรียกว่า พระสมณสาสน์. (ป.).
2. จากจดหมายข่าวราชบัณฑิตยสถาน ปีที่ ๑ ฉบับที่ ๔ ได้กล่าวถึงคำว่า “สาสน์” “สาส์น” และ “สาร” ไว้ว่า
พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ พิมพ์ครั้งที่ ๔ จะไม่พบคำ “สาส์น” แต่จะพบคำว่า สาสน์ (หน้า ๘๑๘) และคำว่า สาร (หน้า ๘๑๕) ซึ่งนิยามไว้ดังนี้ 
สาสน์ (สาด) น.คำสั่ง, คำสั่งสอน; โดยปริยายหมายถึงพระราชหัตถเลขาทางราชการ จดหมายทางราชการของประธานาธิบดี และลิขิตของพระสังฆราช เช่น พระราชสาสน์ อักษรสาสน์ สมณสาสน์. 
สาร ๑, สาร-๑, สาระ (สาน, สาระ-) น.แก่น, เนื้อแท้ที่แข็ง, เช่น แก่นสาร ส่วนสำคัญ, ข้อใหญ่ใจความ, เช่น ไม่เป็นสาระ; ถ้อยคำ เช่น กล่าวสาร, หนังสือ เช่น นิตยสาร, จดหมาย เช่น เขียนสาร.

การที่พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ไม่เก็บคำ สาส์น เพราะเป็นคำที่อ่านและเขียนผิดอักขรวิธีไทยของคำที่มาจากภาษาบาลีสันสกฤต คำบาลีสันสกฤตนั้น พยัญชนะตัวที่ไม่มีรูปสระกำกับอยู่และไม่ใช่ตัวควบกล้ำหรือตัวสะกด จะอ่านเหมือนมีสระอะประสมอยู่เสมอโดยเฉพาะพยัญชนะตัวท้ายคำ เช่น สาสน (อ่านว่า สา-สะ-นะ) เมื่อไทยรับคำบาลีสันสกฤตมาใช้มักนิยมแปลงพยัญชนะตัวท้ายคำเป็นตัวสะกดบ้าง เช่น กาล (กา-ละ) อ่านเป็น กาน, ขย (ขะ-ยะ) แผลงเป็น ขัย แปลงเป็นตัวสะกดและตัวการันต์บ้าง เช่น สนฺต เป็น สันต์, วิโรจน เป็น วิโรจน์ คำ สาส์น ซึ่งเป็นคำมาจากบาลีว่า สาสน จึงต้องเขียนว่า สาสน์ (อ่านว่า สาด) จึงจะถูกต้องตามหลักอักขรวิธีไทยดังกล่าวข้างต้น และคำนี้มีแบบแผนการใช้มาแต่โบราณกับลิขิตของพระสังฆราช เช่น สมณสาสน์, พระราชหัตถเลขาทางราชการ เช่น พระราชสาสน์ เท่านั้น

ส่วนที่มีการใช้คำว่า สาส์น และอ่านว่า สาน คงเนื่องมาจากชื่อหนังสือ สาส์นสมเด็จ ซึ่งเป็นหนังสือที่รวบรวมจดหมายโต้ตอบเกี่ยวกับความรู้ทางประวัติศาสตร์ โบราณคดี ภาษา ขนบธรรมเนียมประเพณี ศิลปะ ฯลฯ ระหว่างสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพกับสมเด็จฯ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ หนังสือเล่มนี้เป็นที่รู้จักกันแพร่หลายมาก คำ สาส์น นี้จึงติดหูติดตาและนำไปใช้ในความหมายของ “จดหมาย” กันแพร่หลาย ที่ถูกแล้ว คำว่า สาส์น จะต้องถือว่าเป็นคำวิสามานยนาม เป็นคำยกเว้นที่ใช้เป็นชื่อหนังสือเล่มนี้เท่านั้น

ฉะนั้น เมื่อไรก็ตามที่ต้องการจะหมายถึง “ถ้อยคำ, หนังสือหรือจดหมายจากบุคคลใดบุคคลหนึ่งให้ใช้คำว่า สาร เช่น สารจาก (นายกรัฐมนตรี, ประธานกรรมการ, …) เช่น สารฉบับนี้มีข้อความว่า… ไม่ใช้ สาสน์ หรือ สาส์น เป็นอันขาดเพราะไม่ถูกต้อง.
แต่ในปัจจุบัน คำว่า “สาส์น” ได้รับการละเว้น แล้วอีกคำหนึ่ง ซึ่งมีการอ้างถึงข้อมูลเพิ่มเติมของ คุณ เทราสเฟียร์ เอล เซราฟิเดอร์ ได้บันทึกไว้ว่า เรื่องคำว่า สาส์น นั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระบรมราชวินิจฉัย แย้งราชบัณฑิตสภาว่า
“คำว่า สาส์น นี้ ได้มีการใช้ต่อเนื่องเป็นนิจมานับแต่ครั้งแผ่นดินพระพุทธเจ้าหลวง หากท่านทั้งหลายเห็นว่าผิด ข้าพเจ้าก็จะใช้อย่างที่ข้าพเจ้าได้ร่ำเรียนมา และใช้อย่างที่สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงใช้ ขอให้ถือว่า การใช้คำสะกดการันต์ว่า สาส์น นี้ เป็นพระราชนิยมในรัชกาลปัจจุบัน”

ปัจจุบัน ในกรณีกระทรวงการต่างประเทศ ออกพระราชสาส์นตราตั้ง หรือแม้แต่การรับพระราชสาส์นตราตั้ง(เอกอัครราชทูต อุปทูต หรือกงสุลใหญ่ผู้มีอำนาจเต็ม)จากประเทศอื่นที่มีพระราชวงศ์เป็นพระประมุขประเทศ ก็ต้องใช้ “สาส์น”
และในกรณีที่ประเทศที่มีประธานาธิบดีเป็นประมุข มีอักษรสาส์นตราตั้ง ก็ใช้ “สาส์น” เช่นกัน เนื่องมาจากพระบรมราชวินิจฉัยข้างต้นนั่นเอง
ดังนั้นสรุปก็คือการสะกดว่า สารรุ่น เป็นการสะกดถูกต้องตามพจนานุกรม แต่อย่างไรก็ตาม พี่แมนก็คงจะตามรอยเบื้องยุคลบาทของในหลวง ใช้คำว่า สาส์นรุ่น เพราะไม่ผิดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญ อีกทั้งส่วนตัวเคยไม่เห็นด้วยกับราชบัณฑิตสภาในการนิยามคำว่า hardware คือ กระด้างภัณฑ์ และ software คือ ละมุนภัณฑ์

No comments:

Post a Comment